วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อี-แคตตาล็อกบนมือถือ ตลาดนัดอุตสาหกรรมออนไลน์


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (กสอ.) ปรับยุทธ ศาสตร์พัฒนาความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (อีซิต=ECIT) โดยรุกเข้าสู่การใช้ระบบอี-มาร์เก็ตเพลส (e-Marketplace) ผ่านระบบโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์พกพา ตอบสนองการใช้งานของผู้ซื้อผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมออนไลน์ที่ขยายไปตามต่างจังหวัดมากขึ้น
จากเริ่มต้นปี 2552 มีสมาชิกไม่ถึงร้อยราย ภายในปีเดียว ปาเข้าไปพันกว่าแล้ว
ภควัต รักศรี ผจก.งานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งทำหน้าที่ให้บริการโครงการอีซิต อี-มาร์ เก็ตเพลส เล่าถึงการนำระบบตลาดออนไลน์เข้าสู่โทรศัพท์มือถือว่า เป็นเพราะข้อมูลสถิติที่ติดตามพบว่า ระบบอี-แคตตาล็อก หรือแคตตาล็อก ออนไลน์ใช้งานมาถึงขีดสุดแล้ว ก็ทำได้แค่แสดงข้อมูลบนเว็บ ขณะที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่จะสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ทั้งยังได้รายละเอียดว่า ผู้ใช้งานส่วนใหญ่คือวิศวกรในโรงงาน ซึ่งเป็นผู้มีความต้องการอุปกรณ์ไปใช้ในโรงงาน การซ่อมบำรุง คลังสินค้า หรือเครื่องมือช่าง แต่ไม่ได้เข้าสู่อินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ต้องการสิ่งใด ก็แจ้งฝ่ายจัดซื้อให้จัดหา แต่เมื่อได้มาก็ไม่ตรงตามความต้องการ จากการวิจัยพบว่า วิศวกร ผู้ต้องการใช้อุปกรณ์ ต้องการมีระบบอี-มาร์เก็ตเพลส หรือแหล่งเลือกสินค้าที่สืบค้นได้จากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งติดตัวตลอดเวลา ทางโครงการจึงปรับให้สามารถอ่านได้บนโทรศัพท์ และเนื่องจากผู้ใช้ส่วนใหญ่ นิยมมือถือระบบซิม เบียน ดังนั้น การเผยแพร่ข้อมูลออนไลน์บนมือถือ จึงใช้ระบบแวป (wap) โปรแกรมเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ต้องการหน่วยความจำมากและใช้พลังงานต่ำ เปิดได้กับมือถือทุกระบบ แม้แต่จอขาวดำ
อี-มาร์เก็ตเพลส แห่งนี้ เป็นตลาดนัดหรือตลาดกลางสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มุ่งตอบสนองธุรกิจด้วยกัน หรือบีทูบี (B2B) ต่างกับเว็บชอปปิงออนไลน์ที่เน้นจำหน่ายปลีกกับผู้บริโภค ซึ่งเรียกกันในวงการว่า บีทูซี (B2C)
ตลาด อี-มาร์เก็ตเพลส สำหรับอุตสาห กรรมต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อ จึงต้องพิจารณาผู้ขายที่มีคุณภาพ และอีซิต จะทำต่อไปก็คือ เคเอ็ม หรือการจัดการความรู้ เผยแพร่ให้ผู้ซื้อจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทราบข้อมูลเชิงวิชาการว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายจะแก้ปัญหาอะไรให้กับโรงงาน เพื่อให้ได้สินค้าที่ตรงความต้องการ หรือติดยึดกับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง
ผลแห่งการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อทำให้เว็บตลาดออนไลน์ เฉพาะ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมรายนี้ มีลูกค้าติดต่อเข้ามามากมาย จนต้องจัดแผนกทำหน้าที่จับคู่การค้า ให้กับผู้ซื้อรายใหญ่กับผู้จำหน่ายในกรณีที่สืบค้นเองแล้วหาไม่เจอ หลายรายใช้วิธีโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือ แต่กับรายที่ใช้คีย์เวิร์ด หรือคำสำคัญตรงกับหมวดสินค้าที่มี เว็บไซต์ของผู้จำหน่าย ก็ไปติดต่อกันโดยตรง
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเว็บอี-มาร์เก็ตเพลส ที่บริษัทใหญ่ ชื่อดังที่รู้จักทั่วฟ้าเมืองไทยว่าเป็นเจ้าตลาดในแต่ละกลุ่มสินค้ามาอาศัยเป็นช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์กับผู้ประกอบการด้วยกัน
ถามว่า หากผู้ประกอบการรายใหม่ไม่อยากตกขบวน จะเข้าร่วมโครงการทำอย่างไร อาจารย์ภควัต บอกว่าต้องเข้าเงื่อนไขที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกำหนด คือ เป็นผู้ผลิตโดยตรง ไมใช่นายหน้า เป็นกิจการของคนไทย หากเป็นกิจการข้ามชาติ ก็ไม่รับ
จะต้องมีความรู้เทคโนโลยีสารสนเทศขนาดไหน เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ง่วนกับภารกิจในโรงงาน ไม่มีเวลานั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ คำตอบก็คือ อันดับแรกต้องเปิดใจว่าพร้อมจะเข้าสู่ระบบอี-มาร์เก็ตเพลส มีความต้องการใช้ไอทีเพื่อเพิ่มยอดขาย ดังนั้น ก็ควรรู้ว่าเว็บไซต์เป็นพื้นที่ค้าขาย เป็นแหล่งที่จะค้นหาสินค้า หรือตรวจสอบข้อมูลของคู่แข่งเป็นเพียงเท่านี้ เมื่อเข้าร่วมกับโครงการ อบรมอีกหนึ่งวัน ให้ทราบเทคนิควิธีการก็ใช้การได้
แม้อินเทอร์เน็ต จะเป็นแหล่งโอกาสทางการค้าของธุรกิจน้อยใหญ่ แต่ในเวลาเดียวกัน ข่าวร้าย จากการถูกเจาะระบบ การโจมตีของวายร้ายที่ลอบก่อกวน จะทำให้มีปัญหาการรั่วไหลของข้อมูล หรือทำให้ความลับของกิจการหลุดไปถึงมือของผู้อื่นหรือไม่ อาจารย์ภควัต ตอบว่า แท้จริง อี-มาร์เก็ตเพลส หรือแคตตาล็อกออนไลน์ ไม่ต่างกับการทำโบรชัวร์ ซึ่งมีจุดหมายเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า ต่างกันตรงที่อี-มาร์เก็ตเพลส อยู่ในเว็บไซต์ การจะรั่วไหลหรือไม่ ก็ขึ้นกับว่า เจ้าของสถานประกอบการให้สิทธิพนักงานในการเข้าถึงข้อมูลอย่างไร การจัดระบบหรือความรับผิดชอบข้อมูลของพนักงานเป็นอย่างไร
หากเกิดปัญหา ก็ไม่ได้เกิดจากการเข้าสู่ระบบอี-มาร์เก็ตเพลส แน่นอน
สนใจอยากให้สินค้าอยู่ในสายตาของผู้ซื้อจากกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ให้เข้าไปศึกษารายละเอียดบนเว็บ www.ecitthai.net หรือ www.thaitechno.net และถ้าตกลงปลงใจ ก็กรอกใบสมัครไว้ได้ จะสอบถามทางโทรศัพท์ก่อน ก็เชิญที่ 0-2586-7700, 0-2586-7711
งานนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดทำระบบเพื่อสนับสนุนธุรกิจให้มีแหล่งค้าออนไลน์คุณภาพไว้แล้ว
จึงไม่ควรปล่อยให้โอกาสผ่านหน้าไปโดยไม่รีบคว้า.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น